กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (อังกฤษ: International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights, ย่อ: ICESCR) เป็นสนธิสัญญาพหุภาคี ซึ่งผ่านมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 1966 และมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 1976 เป็นต้นมา กติกาฯ ผูกมัดภาคีให้ทำงานเพื่อมุ่งสู่การให้สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง (ESCR) แก่ปัจเจกบุคคล รวมถึงสิทธิแรงงานและสิทธิในสุขภาพอนามัย สิทธิในการศึกษา ตลอดจนสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่พอเพียง จนถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 กติกาฯ มีภาคี 160 ประเทศ และยังมีอีกหกประเทศที่ได้ลงนามแล้ว แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน
กติกาฯ เป็นส่วนหนึ่งของตราสารสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ร่วมกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (UDHR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และรวมถึงพิธีสารเลือกรับที่หนึ่งและที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองด้วย
กติกาฯ ได้รับการควบคุมดูแลโดยคณะกรรมาธิการสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมกำเนิดมาจากกระบวนการเดียวกันกับที่นำไปสู่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ได้มีการเสนอ "ปฏิญญาว่าด้วยสิทธิสำคัญของมนุษย์" ที่การประชุมซานฟรานซิสโกใน ค.ศ. 1945 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งสหประชาชาติ และคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติได้รับมอบหมายให้ร่างปฏิญญานั้น ช่วงต้นของกระบวนการ เอกสารถูกแบ่งออกเป็นปฏิญญาซึ่งระบุหลักการทั่วไปของสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาหรือกติกาซึ่งมีฉันทามติผูกมัด ซึ่งปฏิญญานั้นได้พัฒนาไปเป็นปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งผ่านมติรับเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1948
การร่างอนุสัญญายังดำเนินต่อไป แต่ยังคงมีข้อแตกต่างสำคัญระหว่างสมาชิกสหประชาชาติในเรื่องความสำคัญซึ่งสัมพันธ์กันระหว่างสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งเป็นสิทธิในด้านลบ (negative rights) กับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมซึ่งเป็นสิทธิในด้านบวก (positive rights) ซึ่งเหตุผลดังกล่าวได้ทำให้อนุสัญญาถูกแบ่งเป็นสองกติกาไม่ขึ้นต่อกัน "ฉบับหนึ่งระบุสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ส่วนอีกฉบับหนึ่งระบุสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม" กติกาทั้งสองมุ่งให้วางข้อบทที่คล้ายกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และเปิดให้ลงนามเป็นภาคีไปพร้อมกัน ซึ่งกติกาแต่ละฉบับยังจะมีข้อที่บัญญัติว่าด้วยสิทธิของทุกคนในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง
เอกสารฉบับแรกกลายไปเป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และฉบับที่สองเป็นกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ร่างเอกสารทั้งสองถูกเสนอต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่ออภิปรายใน ค.ศ. 1954 และผ่านมติรับใน ค.ศ. 1966
กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเป็นไปตามโครงสร้างของ UDHR และ ICCPR โดยมีปรารภและสามสิบเอ็ดข้อ โดยแบ่งออกเป็นห้าภาค
ภาค 1 (ข้อ 1) รับรองสิทธิของมนุษย์ทุกคนในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง รวมถึงสิทธิที่จะ "กำหนดสถานภาพทางการเมืองของตนได้อย่างเสรี" พัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และจัดการและใช้จ่ายทรัพยากรของตนเอง ข้อดังกล่าวยังรับรองสิทธิในด้านลบของประชาชนที่จะไม่ถูกลิดรอนวิถีทางยังชีพของตน และกำหนดข้อผูกมัดแก่ทุกภาคีที่ยังรับผิดชอบต่อดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเองและที่อยู่ในภาวะทรัสตี (อาณานิคม) เพื่อกระตุ้นและเคารพการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของพวกเขา
ภาค 2 (ข้อ 2-5) สถาปนาหลักการแห่ง "การทำให้[สิทธิซึ่งรับรองไว้ในกติกานี้]กลายเป็นความจริงโดยลำดับ" (progressive realisation) กำหนดให้สิทธิทั้งหลายนั้นได้รับการรับรอง "โดยปราศจากการแบ่งแยกในทุกประเภท เป็นต้นว่าเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด ชาติหรือสังคมดั้งเดิม ทรัพย์สิน กำเนิดหรือสถานะอื่น" สิทธินี้สามารถถูกจำกัดได้เฉพาะโดยกฎหมาย ในรูปแบบที่เข้ากันได้กับธรรมชาติของสิทธิ และเพียงเพื่อจุดประสงค์ในการ "สนับสนุนให้เกิดสวัสดิภาพทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย" เท่านั้น
สิทธิเหล่านี้จำนวนมากรวมถึงมาตรการเฉพาะซึ่งจำต้องมีการปฏิบัติเพื่อทำให้กลายเป็นความจริง
ภาค 4 (ข้อ 16-25) ควบคุมการรายงานและการเฝ้าตรวจกติกาฯ และขั้นตอนที่ภาคีจะต้องนำไปปฏิบัติ นอกจากนี้ยังอนุญาตให้องค์กรเฝ้าตรวจ (เดิมคือ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ปัจจุบันคือ คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม) เพื่อเสนอแนะในลักษณะทั่วไปแก่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติถึงมาตรการที่เหมาะสมทำให้สิทธิตามกติกานี้กลายเป็นความจริง
รับดำเนินการ ... โดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่ เพื่อให้สัมฤทธิ์ผลทำให้สิทธิซึ่งรับรองไว้ในกติกานี้กลายเป็นความจริงอย่างบริบูรณ์โดยลำดับด้วยวิธีทั้งปวงที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งรวมทั้งการกำหนดมาตรการทางกฎหมายด้วย
ข้อความข้างต้นเป็นที่รู้จักกันว่า หลักการแห่ง "การทำให้[สิทธิซึ่งรับรองไว้ในกติกานี้]กลายเป็นความจริงโดยลำดับ" ซึ่งได้รับรองสิทธิบางประการ (ตัวอย่างเช่น สิทธิในสุขภาพ) อาจบรรลุผลในทางปฏิบัติได้ยากในเวลาอันสั้น และว่ารัฐทั้งหลายอาจประสบกับข้อจำกัดด้านทรัพยากร แต่ได้กำหนดให้แต่ละรัฐดำเนินการอย่างดีที่สุดด้วยวิธีการของตน
หลักการดังกล่าวแตกต่างจากหลักการของ ICCPR ซึ่งผูกมัดภาคีให้ "เคารพและให้ความมั่นใจแก่บรรดาบุคคลทั้งปวงในอาณาเขตของตน และภายใต้เขตอำนาจของตน" ถึงสิทธิในอนุสัญญานั้น อย่างไรก็ดี หลักการดังกล่าวมิได้ยอมให้กติกานี้ไร้ความหมายไปทีเดียว ข้อกำหนดในการ "รับดำเนินการ" กำหนดให้มีภาระผูกพันต่อเนื่องทำงานมุ่งสู่การทำให้สิทธิทั้งหลายกลายเป็นจริง หลักการดังกล่าวยังไม่ยอมรับมาตรการถดถอยซึ่งประวิงเป้าหมายนั้น คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมยังได้ตีความหลักการดังกล่าวว่า การกำหนดข้อผูกมัดขั้นต่ำนั้นเป็นไปเพื่อให้มีการมอบสิทธิต่าง ๆ อย่างน้อยในระดับขั้นต่ำซึ่งขาดเสียมิได้ หากทรัพยากรเป็นข้อจำกัดอย่างมากแล้ว หลักการดังกล่าวควรรวมไปถึงการใช้โครงการเป้าหมายซึ่งมุ่งไปยังผู้ด้อยโอกาส
คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมพิจารณาการออกกฎหมายว่าเป็นวิธีการจำเป็นทำให้สิทธิกลายเป็นความจริง ซึ่งไม่น่าถูกจำกัดโดยข้อจำกัดด้านทรัพยากร การวางข้อบทต่อต้านการเลือกปฏิบัติและการสถาปนาสิทธิซึ่งใช้บังคับได้พร้อมการเยียวยาทางกฎหมายภายในระบบกฎหมายแห่งชาติถูกพิจารณาว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสม ข้อบทบางประการ อาทิ กฎหมายต่อต้านการเลือกปฏิบัติ ถูกกำหนดภายใต้ตราสารสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ แล้ว อย่างเช่น ICCPR
ข้อ 6 ของกติกาฯ รับรองสิทธิทำงาน นิยามว่าเป็นโอกาสของทุกคนในการหาเลี้ยงชีพตนด้วยงานที่มีสิทธิเลือกอย่างเสรีหรือได้รับการยอมรับ ภาคีถูกกำหนดให้ดำเนิน "ขั้นตอนที่เหมาะสม" ในการคุ้มครองสิทธินี้ รวมถึงการฝึกทั้งทางเทคนิคและวิชาชีพและนโยบายเศรษฐกิจซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและส่งผลให้เกิดการจ้างงานเต็มที่ในท้ายที่สุด สิทธินี้บอกเป็นนัยว่า ภาคีทั้งหลายต้องประกันการเข้าถึงการจ้างงานอย่างเท่าเทียม และคุ้มครองกรรมกรจากการถูกกีดกันจากการจ้างงานโดยไม่เป็นธรรม รัฐภาคีจะต้องป้องกันมิให้เกิดการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานและรับรองการเข้าถึงแก่ผู้ด้อยโอกาส ข้อเท็จจริงที่ว่างานจะต้องถูกเลือกหรือได้รับการยอมรับอย่างเสรี หมายความว่า ภาคีจะต้องห้ามแรงงานบังคับหรือแรงงานเด็ก
งานที่หมายถึงในข้อ 6 จะต้องเป็นงานที่มีคุณค่า (decent work) โดยมีการนิยามอย่างมีผลในข้อ 7 แห่งกติกาฯ ซึ่งรับรองสิทธิแก่ทุกคนในสภาพการทำงานที่ "ยุติธรรมและน่าพึงพอใจ" จากข้อความดังกล่าวจึงตีความได้ว่า แรงงานจะต้องได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรมและค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกันสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่ากัน (equal pay for equal work) เพียงพอจะให้ค่าจ้างที่สมควรแก่แรงงานและผู้อยู่ในอุปการะ สภาพการทำงานที่ปลอดภัย โอกาสที่เท่าเทียมในที่ทำงาน และการพักผ่อนและเวลาว่าง ข้อจำกัดเรื่องเวลาทำงานและวันหยุดเป็นครั้งคราวโดยได้รับค่าตอบแทน
ข้อ 8 รับรองสิทธิของแรงงานในการก่อตั้งหรือเข้าร่วมสหภาพแรงงาน และคุ้มครองสิทธิในการประท้วงหยุดงาน แต่ยังอนุญาตให้จำกัดสิทธิเหล่านี้แก่สมาชิกของกองทัพ ตำรวจหรือฝ่ายบริหารของรัฐ หลายภาคีได้ขอสงวนสิทธิในข้อความนี้ โดยอนุญาตให้ข้อความดังกล่าวตีความไปในทางที่เข้ากันได้กับรัฐธรรมนูญของภาคีนั้น (จีนและเม็กซิโก) หรือขยายการจำกัดสิทธิสหภาพแก่กลุ่ม อย่างเช่น เจ้าหน้าที่ดับเพลิง (ญี่ปุ่น)
ข้อ 9 ของกติกาฯ รับรอง "สิทธิของทุกคนในอันที่จะมีสวัสดิการสังคม รวมทั้งการประกันสังคม" ซึ่งกำหนดให้ภาคีจัดหาแผนการประกันสังคมบางรูปแบบเพื่อคุ้มครองบุคคลต่อความเสี่ยงต่อโรคภัยไข้เจ็บ ความพิการ การผดุงครรภ์ การบาดเจ็บจากการจ้างงาน การว่างงานหรือวัยสูงอายุ เพื่อจัดหาแก่ผู้รอดชีวิต กำพร้า และผู้ซึ่งไม่สามารถชำระค่าบริการสาธารณสุขได้ และเพื่อประกันว่าครอบครัวจะได้รับการสนับสนุนอย่างเพียงพอ ประโยชน์จากแผนการดังนี้จะต้องเพียงพอ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และจัดหาให้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ กติกาฯ ไม่ได้จำกัดรูปแบบของแผนการ และทั้งแผนการที่ผู้ได้รับประโยชน์จ่ายเงินเพื่อเอาประกันและไม่จ่ายเงิน (contributory and non-contributory schemes) ล้วนได้รับอนุญาต
คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมได้ชี้ปัญหาเรื้อรังกับการนำสิทธินี้ไปปฏิบัติ โดยมีระดับการเข้าถึงต่ำมาก
ภาคีหลายประเทศ รวมทั้งฝรั่งเศสและโมนาโก มีข้อสงวนสิทธิ์ในการอนุญาตให้ประเทศทั้งสองวางข้อกำหนดการอยู่อาศัยเพื่อให้เหมาะสมกับผลประโยชน์ทางสังคม คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมอนุญาตการจำกัดเช่นนั้น ด้วยเหตุว่า การจำกัดเหล่านั้นได้สัดส่วนและสมเหตุสมผล
ข้อ 10 แห่งกติกาฯ รับรองว่าครอบครัวเป็น "หน่วยรวมของสังคมที่เป็นพื้นฐานและเป็นธรรมชาติ" และกำหนดให้ภาคียินยอมที่จะ "คุ้มครอง และช่วยเหลืออย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้" ภาคีจะต้องประกันว่าพลเมืองของตนมีเสรีภาพในการจัดตั้งครอบครัว และการสมรสจะต้องได้รับการยินยอมอย่างเสรีจากคู่สมรสและไม่ถูกบังคับ ภาคียังต้องอนุญาตให้ลาโดยได้รับค่าจ้าง (paid leave) หรือการประกันสังคมที่เพียงพอแก่มารดาทั้งก่อนและหลังการกำเนิดบุตร อันเป็นข้อผูกมัดซึ่งซ้ำซ้อนกับข้อ 9 ท้ายสุด ภาคีจะต้องดำเนิน "มาตรการพิเศษ" เพื่อคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหรือสังคม รวมทั้งกำหนดอายุขั้นต่ำในการจ้างงานและห้ามเด็กมิให้ทำงานที่อันตรายและเป็นโทษ
ข้อ 11 รับรองสิทธิของทุกคนในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ ซึ่งรวมไปถึง แต่ไม่จำกัดเฉพาะ สิทธิในอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยอย่างเพียงพอ และ "สภาพการครองชีพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง" นอกจากนี้ยังผูกมัดให้ภาคีทำงานร่วมกันเพื่อขจัดความหิวโหยในระดับโลก
สิทธิในอาหารที่เพียงพอ หรือที่รู้จักกันว่า สิทธิในอาหาร ถูกตีความว่า กำหนดให้มี "การหามาได้ของอาหารในปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอจะตอบสนองความต้องการด้านอาหารของปัจเจกบุคคล ปลอดภัยจากสสารอันตราย และยอมรับได้ในวัฒนธรรมของตน" สิทธิในอาหารนี้จะต้องสามารถเข้าถึงทุกคน พร้อมบอกข้อผูกมัดเป็นนัยให้จัดหาโครงการพิเศษสำหรับผู้ด้อยโอกาส สิทธิในอาหารที่เพียงพอยังรวมไปถึงสิทธิในน้ำด้วย
สิทธิในที่อยู่อาศัยที่เพียงพอ หรือที่รู้จักกันว่า สิทธิในที่อยู่อาศัย เป็น "สิทธิที่จะอาศัยอยู่ที่ใดที่หนึ่งด้วยความปลอดภัย สันติและมีศักดิ์ศรี" สิทธินี้กำหนด "ความเป็นส่วนตัวอย่างพอเพียง ที่ว่างอย่างพอเพียง ความปลอดภัยอย่างพอเพียง แสงสว่างและการระบายอากาศอย่างพอเพียง สาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างพอเพียง และตำแหน่งที่พอเหมาะเมื่อเทียบกับที่ทำงานและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ซึ่งทั้งหมดนี้ ด้วยมูลค่าที่สมเหตุสมผล" ภาคีต้องประกันความปลอดภัยในสิทธิถือครอง และการเข้าถึงนั้นปราศจากการเลือกปฏิบัติ และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อกำจัดภาวะไร้ที่อยู่อาศัย การรอนสิทธิที่ถูกบังคับ ซึ่งนิยามว่าเป็น "การเพิกถอนอย่างถาวรหรือชั่วคราวซึ่งขัดต่อเจตจำนงของปัจเจกบุคคล ครอบครัว และ/หรือ ชุมชน จากบ้าน และ/หรือ ที่ดินซึ่งพวกเขาถือครอง โดยปราศจากการจัดไว้ชั่วคราว และการเข้าถึง รูปแบบการคุ้มครองทางกฎหมายหรืออื่น ๆ อย่างเหมาะสม" เป็นการละเมิดกติกาฯ อย่างมีมูล
ข้อ 12 แห่งกติกาฯ รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมี "สุขภาพกายและสุขภาพจิตตามมาตรฐานสูงสุดเท่าที่เป็นได้" คำว่า "สุขภาพ" เป็นที่เข้าใจว่ามิใช่เพียงสิทธิในการมีสุขภาพดีเท่านั้น แต่ยังเป็นสิทธิที่จะควบคุมสุขภาพและร่างกาย (รวมทั้งการสืบพันธุ์) ของตนเอง และเป็นอิสระจากการแทรกแซง เช่น การทรมานหรือการทดลองทางการแพทย์ รัฐต้องคุ้มครองสิทธินี้โดยทำให้แน่ใจว่าทุกคนในเขตอำนาจของตนเข้าถึงปัจจัยสุขภาพที่จำเป็น เช่น น้ำสะอาด สุขอนามัย อาหาร สารอาหารและที่อยู่อาศัย และผ่านระบบสาธารณสุขอย่างครอบคลุม ซึ่งทุกคนเข้าถึงได้โดยปราศจากการเลือกปฏิบัติ และทุกคนเข้าถึงได้อย่างประหยัด
ข้อ 12.2 กำหนดให้ภาคีดำเนินการโดยเฉพาะเพื่อพัฒนาสุขภาพของพลเมืองของตน รวมทั้งลดอัตราการตายของทารก และพัฒนาสุขภาพเด็ก, พัฒนาสุขลักษณะทางสิ่งแวดล้อมและที่ทำงาน, ป้องกัน รักษาและควบคุมโรคระบาด และสร้างสภาวะที่ประกันบริการทางการแพทย์ที่เท่าเทียมและทันท่วงทีแก่ทุกคน ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกมองว่าเป็น "ตัวอย่างไม่ละเอียดที่เป็นตัวอย่างประกอบ" มากกว่าเป็นคำประกาศข้อผูกมัดของภาคี
สิทธิในสุขภาพยังถูกตีความว่ากำหนดให้ภาคียอมรับสิทธิสืบพันธุ์ของสตรี โดยไม่จำกัดการเข้าถึงการคุมกำหนด หรือข้อมูล "ที่เซ็นเซอร์ ระงับหรือจงใจแถลงเป็นเท็จ" เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ ภาคียังต้องประกันว่าสตรีได้รับการคุ้มครองจากวิถีปฏิบัติท้องถิ่นที่เป็นโทษ เช่น การขลิบอวัยวะเพศสตรี
ข้อ 13 แห่งกติกาฯ รับรองสิทธิของทุกคนในการศึกษาแบบให้เปล่า (ให้เปล่าสำหรับระดับประถมศึกษา และ "การนำการศึกษาแบบให้เปล่ามาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป" สำหรับระดับมัธยมศึกษาและระดับสูงขึ้น) เพื่อมุ่งให้เกิด "การพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์และความสำนึกในศักดิ์ศรีของตนอย่างบริบูรณ์" และให้ทุกคนมีส่วนร่วมในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ การศึกษานั้นถูกมองว่าเป็นทั้งสิทธิมนุษยชนและ "วิธีอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในความเคารพสิทธิมนุษยชนอื่น" และดังนี้เป็นหนึ่งในข้อที่ยาวที่สุดและสำคัญที่สุดในกติกาฯ
ข้อ 13.2 ลงรายการขั้นตอนเฉาะที่ภาคีต้องดำเนินการเพื่อรับรองสิทธิในการศึกษา เหล่านี้รวมไปถึงการจัดการศึกษาขั้นประถมแบบให้เปล่า ภาคบังคับ และเป็นการทั่วไป, การศึกษาขั้นมัธยม "ให้มีขึ้นโดยทั่วไป และให้ทุกคนมีสิทธิได้รับ" ในหลายรูปแบบ (รวมทั้งมัธยมทางเทคนิคศึกษาและอาชีวศึกษา) และการศึกษาขั้นอุดมที่เข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เหล่านี้ทั้งหมดจะต้องให้มีแก่ทุกคนโดยปราศจากการแบ่งแยก ภาคียังต้องพัฒนาระบบโรงเรียน ซึ่งอาจเป็นรัฐบาล เอกชนหรือผสม สนับสนุนหรือจัดหาทุนการศึกษาให้แก่ผู้ด้อยโอกาส ภาคีถูกกำหนดให้ต้องจัดหาการศึกษาแบบให้เปล่าแก่ทุกระดับ ซึ่งอาจเป็นโดยทันทีหรือค่อยเป็นค่อยไป "การศึกษาขั้นประถมจะต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับและจัดให้ทุกคนแบบให้เปล่า", การศึกษาขั้นมัธยม "ให้มีขึ้นโดยทั่วไป และให้ทุกคนมีสิทธิได้รับโดยวิธีการที่เหมาะสมทุกทาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยนำการศึกษาแบบให้เปล่ามาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป" และ "ทุกคนจะต้องสามารถได้รับการศึกษาขั้นอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกันบนพื้นฐานของความสามารถ โดยวิธีการที่เหมาะสมทุกทาง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยนำการศึกษาแบบให้เปล่ามาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป"
ข้อ 13.3 และ 13.4 กำหนดให้ภาคีเคารพเสรีภาพของผู้ปกครองในการเลือกและจัดตั้งสถาบันการศึกษาเอกชนแก่เด็กของตน ซึ่งยังหมายถึง เสรีภาพการศึกษา ข้อดังกล่าวยังรับรองสิทธิของผู้ปกครองเพื่อ "ประกันให้การศึกษาทางศาสนาและศีลธรรมของเด็กเป็นไปโดยสอดคล้องกับความเชื่อถือของตน" ซึ่งข้อความดังกล่าวถูกตีความว่าเป็นการกำหนดให้โรงเรียนรับาลเคารพเสรีภาพทางศาสนาและมโนธรรมแห่งนักเรียนของตน และเช่นเดียวกับการห้ามการสอนในศาสนาหนึ่งหรือระบบความเชื่อหนึ่งโดยเฉพาะ เว้นแต่จะมีการไม่ยกเว้นไม่แบ่งแยกและทางเลือก
คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมตีความกติกาฯ ว่ายังกำหนดให้รัฐเคารพเสรีภาพทางวิชาการของเจ้าหน้าที่และนักเรียน เนื่องด้วยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับกระบวนการการศึกษา คณะกรรมาธิการฯ ยังพิจารณาว่าการลงโทษทางกายในโรงเรียนขัดกับหลักการสำคัญในศักดิ์ศรีของแต่ละบุคคลของกติกาฯ
ข้อ 14 แห่งกติกาฯ กำหนดให้ภาคีซึ่งยังไม่ได้จัดระบบการศึกษาขั้นประถมภาคบังคับแบบให้เปล่า จัดทำแผนปฏิบัติการโดยละเอียดเพื่อให้เกิดความคืบหน้า "ภายในระยะเวลาที่สมเหตุสมผล"
ข้อ 15 แห่งกติกาฯ รับรองสิทธิของทุกคนที่จะมีส่วนร่วมในชีวิตวัฒนธรรม อุปโภคสิทธิประโยชน์แห่งความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และได้รับสิทธิประโยชน์จากการคุ้มครองผลประโยชน์ทางด้านศีลธรรมและวัตถุอันเกิดจากการผลิตทางวิทยาศาสตร์ วรรณกรรม หรือศิลปกรรมซึ่งตนเป็นผู้สร้างสรรค์ ข้อความหลังนี้บางครั้งถูกมองว่ากำหนดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา แต่คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมตีความว่าเป็นการคุ้มครองสิทธิทางศีลธรรมของผู้สร้างสรรค์และ "ประกาศคุณลักษณะส่วนบุคคลภายในของทุกผลงานสร้างสรรค์จากจิตใจมนุษย์ และรับรองความเชื่อมโยงระหว่างผู้สร้างสรรค์กับผลงานสร้างสรรค์ของพวกเขาอย่างคงทน" ข้อความนี้จึงกำหนดให้ภาคีเคารพสิทธิของผู้ประพันธ์ที่จะได้รับการรับรองว่าเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน สิทธิทางวัตถุถูกตีความว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิในมาตรฐานการครองชีพที่เพียงพอ และ "ไม่จำเป็นต้องขยายเวลาเกินทั้งช่วงชีวิตของผู้ประพันธ์"
ภาคียังต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์ พัฒนาและเผยแพร่ซึ่งวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม, "เคารพเสรีภาพซึ่งขาดไม่ได้แก่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์และกิจกรรมสร้างสรรค์" และสนับสนุนสัญญาระหว่างประเทศและความร่วมมือกันในสาขาเหล่านั้น
แอลจีเรีย ตีความบางส่วนของข้อ 13 ซึ่งคุ้มครองเสรีภาพของผู้ปกครองในการเลือกหรือจัดตั้งสถาบันการศึกษาอย่างเหมาะสมอย่างเสรี โดยไม่ "ทำให้สิทธิของตน [แอลจีเรีย] ลดลงเพื่อจัดตั้งระบบการศึกษาของตน"
บังกลาเทศ ตีความวรรคการกำหนดการปกครองด้วยตัวเองในข้อ 1 ว่า ใช้กับบริบททางประวัติศาสตร์ของลัทธิล่าอาณานิคม มันยังสงวนสิทธิที่จะตีความสิทธิแรงงานในข้อ 7 และ 8 และวรรคไม่เลือกปฏิบัติในข้อ 2 และ 3 ภายในบริบทของรัฐธรรมนูญและกฎหมายในประเทศ
เบลเยียม ตีความการไม่เลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเชื้อชาติกำเนิดว่า "แสดงนัยการผูกมัดต่อรัฐอย่างไม่จำเป็น ซึ่งรับประกันสิทธิแก่ชาวต่างชาติโดยอัตโนมัติเช่นเดียวกับสัญชาติตนอยู่แล้ว คำดังกล่าวควรเข้าใจว่าหมายถึง การกำจัดพฤติกรรมไร้เหตุผล แต่มิใช่ความแตกต่างในการปฏิบัติอันตั้งอยู่บนการพิจารณาอย่างมีจุดประสงค์และมีเหตุผล ในความสอดคล้องกันกับหลักการซึ่งมีอยู่ทั่วไปในสังคมประชาธิปไตย"
อียิปต์ ยอมรับกติกาฯ เฉพาะขอบเขตที่ไม่ขัดต่อกฎหมายชารีอะฮ์อิสลาม ชารีอะฮฺเป็น "บ่อเกิดหลักของตัวบทกฎหมาย" ภายใต้มาตรา 2 ของทั้งรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1973 ที่งดไป และคำประกาศรัฐธรรมนูญเฉพาะกาล ค.ศ. 2011
ฝรั่งเศส มองกติกาฯ ว่าเป็นการส่งเสริมกฎบัตรสหประชาชาติ และสงวนสิทธิที่จะปกครองการเข้าถึงการจ้างงาน สวัสดิการสังคม และประโยชน์อื่น ๆ ของคนต่างด้าว
อินเดีย ตีความสิทธิการกำหนดการปกครองด้วยตัวเองว่าใช้ได้ "เฉพาะกับบุคคลที่อยู่ภายใต้การครอบงำของต่างชาติ" และใช้ไม่ได้กับบุคคลที่อยู่ภายใต้รัฐชาติที่มีเอกราช นอกจากนี้ ยังตีความการจำกัดวรรคสิทธิและสิทธิโอกาสเท่าเทียมในที่ทำงานภายในบริบทของรัฐธรรมนูญ
อินโดนีเซีย ตีความวรรคการกำหนดการปกครองด้วยตนเองภายในขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศอื่น และไม่ใช้กับบุคคลภายในรัฐชาติที่มีเอกราช
ญี่ปุ่น สงวนสิทธิไม่ผูกพันที่จะนำการศึกษาขั้นมัธยมและขั้นอุดมแบบให้เปล่ามาใช้แบบค่อยเป็นค่อนไป
คูเวต ตีความวรรคการไม่เลือกปฏิบัติตามข้อ 2 และ 3 ภายในรัฐธรรมนูญและกฎหมายของประเทศ และสงวนสิทธิการเข้าถึงสวัสดิการสังคมเฉพาะแก่ชาวคูเวต นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิห้ามการหยุดงานประท้วง
โมนาโก ตีความหลักการการไม่เลือกปฏิบัติบนพื้นฐานแห่งชาติกำเนิดว่า "แสดงนัยการผูกมัดต่อรัฐอย่างไม่จำเป็น ซึ่งรับประกันสิทธิแก่ชาวต่างชาติโดยอัตโนมัติเช่นเดียวกับสัญชาติตนอยู่แล้ว" และสงวนสิทธิการตั้งข้อกำหนดด้านการอยู่อาศัยว่าด้วยสิทธิทำงาน สาธารณสุข การศึกษาและสวัสดิการสังคม
นิวซีแลนด์ สงวนสิทธิไม่ปฏิบัติตามข้อ 8 (สิทธิการจัดตั้งและเข้าร่วมสหภาพการค้า) ตราบเท่าที่มาตรการที่มีอยู่ ซึ่งขณะนั้นรวมถึงสหภาพแรงงานบังคับและการอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทที่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งเข้ากันไม่ได้กับข้อ 8 ของกติกาฯ
นอร์เวย์ สวนสิทธิการหยุดงานประท้วง เพื่ออนุญาตการอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทแรงงานบางอย่างโดยบังคับ
ตุรกี จะตีความกติกาฯ ภายใต้บังคับแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังสงวนสิทธิการตีความและนำสิทธิของผู้ปกครองในการเลือกและจัดตั้งสถาบันการศึกษาไปปฏิบัติในแบบที่เข้ากันได้กับรัฐธรรมนูญ
สหราชอาณาจักร มองกติกาฯ ว่าเป็นส่งเสริมกฎบัตรสหระชาชาติ และได้สงวนสิทธิหลายประการต่อดินแดนโพ้นทะเลของประเทศ
สหรัฐอเมริกา - องค์การนิรโทษกรรมสากลเขียนว่า "สหรัฐอเมริกาลงนามกติกาใน ค.ศ. 1979 ภายใต้รัฐบาลคาร์เตอร์ แต่ไม่ถูกผูกพันเต็มที่กระทั่งมีการให้สัตยาบัน ด้วยเหตุผลทางการเมือง รัฐบาลคาร์เตอร์มิได้ผลักดันการทบทวนกติกาฯ ที่จำเป็นจากวุฒิสภา ซึ่งต้องให้ "คำแนะนำและการยินยอม" ก่อนที่สหรัฐอเมริกาสามารถให้สัตยาบันสนธิสัญญาได้ รัฐบาลเรแกนและจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช ถือมุมมองว่าสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมไม่ใช่สิทธิโดยแท้จริง แต่เป็นเพียงเป้าหมายทางสังคมอันพึงปรารถนาเท่านั้น และดังนั้นจึงไม่ควรเป็นวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาผูกพัน รัฐบาลคลินตันมิได้ปฏิเสธธรรมชาติของสิทธิเหล่านี้ แต่ไม่พบว่ามีประโยชน์ทางการเมืองในการเข้าต่อสู้กับวุฒิสภาในเรื่องกติกาฯ รัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ตามรอยมุมมองของรัฐบาลบุชก่อนหน้านี้" มูลนิธิมรดก ถึงความคิดอนุรักษนิยมที่สำคัญ โต้แย้งว่า การลงนามกติกาฯ จะเป็นการผูกมัดการนำนโยบายที่มูลนิธิคัดค้านมาใช้ เช่น ประกันสุขภาพถ้วนหน้า
พิธีสารเลือกรับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรมเป็นข้อตกลงเสริมต่อกติตาฯ ซึ่งเปิดให้ภาคีรับรองอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมเพื่อพิจารณาคำร้องทุกข์จากปัจเจกบุคคล
พิธีสารเลือกรับฯ ได้รับการลงมติรับโดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เปิดให้ลงนามเมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2552 และจนถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 มีภาคีลงนาม 38 ประเทศ และให้สัตยาบันแล้ว 4 ประเทศ พิธีสารฯ จะมีผลใช้บังคับเมื่อภาคีให้สัตยาบันครบ 10 ประเทศ
คณะกรรมาธิการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เป็นหน่วยงานซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้รับมอบหมายให้เฝ้าตรวจการนำกติกาฯ ไปปฏิบัติ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนอิสระ 18 คน เลือกตั้งมาดำรงตำแหน่งสมัยละสี่ปี โดยมีสมาชิกครึ่งหนึ่งเลือกตั้งทุกสองปี
ไม่เหมือนกับหน่วยงานเฝ้าตรวจสิทธิมนุษยชนอื่น คณะกรรมาธิการฯ มิได้จัดตั้งขึ้นโดยสนธิสัญญาที่ตนดูแล แต่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยสภาเศรษฐกิจและสังคมหลังความล้มเหลวของหน่วยงานเฝ้าตรวจสองหน่วยงานก่อนหน้า
รัฐภาคีทั้งหมดถูกกำหนดให้ส่งรายงานเป็นประจำต่อคณะกรรมาธิการฯ เป็นสรุปย่อมาตรการกฎหมาย ตุลาการ นโยบายหรือมาตรการอื่นซึ่งรัฐได้ดำเนินเพื่อนำสิทธิที่ยืนยันในกิตกาฯ ไปปฏิบัติ รายงานฉบับแรกมีกำหนดภายในสองปีของการให้สัตยาบันกติกาฯ ส่วนรายงานหลังจากนั้นมีกำหนดทุกห้าปี คณะกรรมาธิการฯ ตรวจสอบรายงานแต่ละฉบับและหยิบยกความกังวลและการแนะนำของตนแก่รัฐภาคีในรูปของ "ข้อสังเกตเชิงสรุป"
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ_สังคม_และวัฒนธรรม